ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับรถ Formula 1

การสนทนาใน 'Formula 1' เริ่มโดย TUMKUNG_naraka, 20 สิงหาคม 2008

< Previous Thread | Next Thread >
  1. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    กฏและข้อบังคับต่างๆของ FIA ว่าด้วยเรื่องของการแข่งขัน

    กฏและข้อบังคับต่างๆของ FIA ว่าด้วยเรื่องของการแข่งขัน

    เพื่อให้การแข่งขันเอฟวันในปี 2005 สมบูรณ์แบบ และ มีความสนุกสนานสำหรับการชมมากขึ้น FIA หรือ สมาพันธ์รถแข่งนานาๆชาติที่ดูแล และ รับรองกีฬาชนิดนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อบังคับ และ กติกาบางอย่างดังนี้

    1.รอบคัดเลือก (Qualifying)

    ศึกเอฟวันปีนี้ จะทำการแข่งขันรอบคัดเลือกในแต่ละสนามเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้นคือช่วงบ่ายวันเสาร์ และ เช้าวันอาทิตย์ ก่อนหน้าการแข่งขันจริง

    ในรอบคัดเลือกรอบแรกวันเสาร์นั้น จะทำการแข่งขันกันในเวลา 13.00-14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งไม่ต่างจากที่ปฏิบัติกันมาในปี 2004 โดยนักแข่งแต่ละคนจะนำรถลงวิ่งทดสอบเพื่อทำเวลาได้เพียงแค่ 1 รอบสนามเท่านั้น โดยจะเรียงลำดับรถออกสตาร์ทจากผลการแข่งขันในสนามก่อนหน้านี้ กล่าวคือรถที่ได้แชมป์ จะวิ่งทดสอบเป็นคันสุดท้าย ฯลฯ

    สำหรับรอบคัดเลือกรอบสอง ในเช้าวันอาทิตย์ จะทำการแข่งขันกันในเวลาประมาณ 10.00-11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งยังจะให้นักแข่งแต่ละคนนำรถลงวิ่งเพียงแค่รอบเดียวเหมือนวันเสาร์ แต่ลำดับในการวิ่งจะสลับกันโดยให้คนที่ทำเวลาไว้แย่ที่สุดในวันเสาร์ได้ลงทดสอบก่อน

    ในรอบคัดเลือกวันเสาร์นั้น รถแต่ละคันจะสามารถเติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่จำกัด อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าสู่วันอาทิตย์แล้ว ทีมแข่งจะต้องคำนวณ และ กะน้ำมันที่จะใช้ทั้งในการทดสอบรอบสอง และ ในการออกสตาร์ทการแข่งขันจริงไว้เป็นอย่างดี เพราะทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะไม่อนุญาตให้มีการเติมน้ำมันเพิ่มเติมได้อีกจนกระทั่งการแข่งขันจริงได้เริ่มต้นไปแล้ว

    เวลาที่ทำได้ในรอบคัดเลือกจะนำมารวมกันและใช้ในการจัดลำดับการออกสตาร์ทในการแข่งขันจริง นักแข่งผู้ที่ทำเวลารวมได้ต่ำที่สุดจะได้ออกสตาร์ทในตำแหน่งหัวแถว หรือ โพล โพซิชั่น

    2.ยาง (Tyres)
    เรื่องของยาง กลายเป็นเป้าแห่งความสนใจของทีมแข่งแต่ละทีมในปีนี้ เนื่องจากในกฏกติกาใหม่ของปี 2005 ทาง FIA ได้ระบุว่ารถแต่ละคันจะต้องใช้ยางเพียงชุดเดียวเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นในรอบคัดเลือก หรือ การแข่งขันจริง อย่างไรก็ดีหากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆเช่นยางระเบิด หรือ เกิดความเสียหายจนอาจเป็นอันตราย ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ก็อาจพิจารณาให้สามารถเปลี่ยนยางชุดใหม่ได้

    รายละเอียดในเรื่องของยางไม่ได้หมดเพียงแค่นี้ เพราะในวันศุกร์ 2 วันก่อนหน้าการแข่งขันจริง นักแข่งแต่ละคน จะสามารถนำรถลงวิ่งซ้อมเพื่อจะทำการตัดสินใจว่าจะเลือกยางชนิดไหน (โดยปกติจะใช้ยางแบบแห้งกัน ซึ่งเปอร์เซนต์ส่วนผสมของเนื้อยางแต่ละชุดอาจจะถูกกำหนด หรือ ผลิตขึ้นมาให้แตกต่างกัน) สำหรับการวิ่งรอบคัดเลือก และ แข่งขันจริงได้ ซึ่งหากเลือกยางชนิดหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้อีก สรุปก็คือ ตลอดการซ้อม,คัดเลือก และ การแข่งขันจริง นักแข่งจะต้องเลือกยางไว้ล่วงหน้า 3 ชุดด้วย ชุดแรกจะใช้สำหรับการซ้อมในวันศุกร์ ชุดที่สองซึ่งอาจจะเหมือน หรือ ต่างจากชุดแรก จะใช้สำหรับรอบคัดเลือก และ ชุดสุดท้ายเปรียบได้กับยางอะไหล่ ซึ่งจะถูกกันไว้สำหรับกรณีที่ต้องมีการเปลี่ยนยางแบบปัจจุบันทันด่วน

    ทั้งนี้นักแข่งอาจจะใช้ยางเปียก หรือ ยางสำหรับสภาพอากาศที่อาจเลวร้ายสุดๆได้ แต่จะต้องได้รับการเห็นชอบของคณะกรรมการจัดการแข่งขันเสียก่อน

    3.เครื่องยนต์ (Engines)
    ในปี 2005 นั้น FIA ดูจะผ่อนปรนในเรื่องของเครื่องยนต์มากขึ้น กล่าวคือในปี 2004 เครื่องยนต์หนึ่งเครื่องเท่านั้นจะถูกนำมาใช้สำหรับต่อนักแข่งหนึ่งคน และ ต่อรถหนึ่งคัน อย่างไรก็ดีในปีนี้ FIA ได้อนุญาตให้เพิ่มเครื่องยนต์ได้เป็น 2 เครื่องสำหรับการแข่งขัน โดยมีการกำหนดไว้ว่าเครื่องยนต์ทั้ง 2 จะต้องสามารถใช้สำหรับการวิ่งระยะ 1,500 กิโลเมตรได้

    หากนักแข่งคนใด ต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ก่อนหน้าลงวิ่งในรอบคัดเลือก นักแข่งคนนั้นจะต้องแลกกับการออกสตาร์ทต่ำกว่าอันดับที่ควรจะเป็น 10 อันดับด้วยกัน และหากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องระหว่างหลังวิ่งในรอบคัดเลือกรอบแรกไปแล้ว นักแข่งคนนั้นจะต้องแลกด้วยการถูกให้ออกสตาร์ทในการแข่งขันจริงในอันดับท้ายสุดแทน

    ทั้งนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยว่าการเข้มงวดในเรื่องเครื่องยนต์ของ FIA ทำให้ทีมแข่งแต่ละทีมไม่สามารถจะเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องความแรงของเครื่องยนต์ได้อย่างเต็มที่

    4.ระบบพลศาสตร์ (Aerodynamics)
    การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับระบบพลศาสตร์ ถูกมองว่าเป็นการช่วยลดค่าดาวน์ฟอร์ซของรถแต่ละคันให้ลดน้อยลง รถแข่งในปี 2005 อาจดูมีรูปโฉมที่แปลกออกไปจากเดิมเล็กน้อยเช่น จมูกที่สูงขึ้น, ปีกหน้าที่ทำองศามากขึ้น ฯลฯ

    มีการคำนวณตัวเลขของค่าดาวน์ฟอร์ซว่าจะลดลงโดยเฉลี่ยจากปี 2004 ที่ตัวเลข 25 เปอร์เซ็นต์ และนั่นทำให้ทีมออกแบบของทีมแข่งแต่ละทีมต้องทำงานกันด้วยความพิถีพิถันมากขึ้น รวมทั้งตัวนักแข่งแต่ละคนด้วย ที่อาจจะทำเวลาเฉลี่ยต่อรอบช้าไปกว่าเดิม และ ต้องใช้เทคนิคในการควบคุมรถมากกว่าที่ผ่านๆมา

    การจัดเก็บรถในการแข่งขัน (Car Livery)

    ในการแข่งขันตลอดทั้ง 3 วัน ทีมแข่งแต่ละทีมจะไม่สามารถปรับแต่งตัวรถเพิ่มเติมได้ เว้นแต่จะได้รับการยินยอมจากฝ่ายคณะกรรมการแข่งขัน โดยรถแข่งทั้ง 2 คันจะถูกจัดเก็บไว้รวมกัน ขณะที่รถคันที่ 3 ที่ใช้การซ้อมวันศุกร์ จะถูกแยกเก็บไว้อีกที่หนึ่ง

    ทั้งนี้รถแข่งแต่ละคันจะต้องติดสติ๊กเกอร์เบอร์ของนักแข่งแต่ละคนให้ตรง และ เรียบร้อย โดยจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อมองจากด้านหน้าของตัวรถ ขณะเดียวกันชื่อของนักแข่งจะต้องมีติดไว้ทั้งบนหมวกกันน็อก และ บริเวณด้านข้างของค็อกพิต นอกจากนี้สัญลักษณ์ หรือ เครื่องหมายของทีมแข่งต่างๆจะต้องถูกติดไว้อย่างชัดเจนบริเวณจมูกด้านหน้าของรถ

    เนื่องจากทีมแต่ละทีมจะมีรถ 2 คันสำหรับการแข่งขัน เพื่อให้เกิดความแตกต่าง และ จดจำได้ง่าย มีการกำหนดว่าจะต้องมีการใช้สีบริเวณตัวกล้องที่ติดบนตัวรถให้แตกต่างกัน โดยกล้องที่ติดกับรถคันแรกจะต้องพ่น หรือ ทาด้วยสีแดงสะท้อนแสง ส่วนคันที่สองนั้นจะปล่อยไว้เป็นสีปกติของตัวรถตามที่แจ้งมา ขณะที่รถคันที่สาม หากมีจะต้องพ่น หรือ ทาด้วยสีเหลืองสะท้อนแสง

    การจัดอันดับในการแข่งขัน (Classification)

    คำถามที่มักได้ยินกันบ่อยๆเกี่ยวกับเรื่องของอันดับของนักแข่งแต่ละคนที่ทำได้ในการแข่งขันแต่ละรายการ ทั้งพวกที่แข่งจนจบซึ่งไม่มีปัญหาอะไร หรือ พวกที่ต้องออกจากการแข่งขันกลางคันนั้น มีเขียนไว้อย่างชัดเจนในกติกาของ FIA ซึ่งพอจะสรุปได้คร่าวๆดังนี้ก็คือ หากนักแข่งคนใดสามารถนำรถวิ่งได้มากกว่า หรือ เท่ากับ 90 เปอร์เซนต์ของจำนวนรอบของการแข่งขันที่กำหนด นักแข่งรายนั้นๆก็จะได้รับการจัดอันดับในการแข่งขัน

    แต่ก็มีบางกรณีที่ควรศึกษาไว้ก็คือ หากในการแข่งขันรายการใดถูกยกเลิก หรือ ถูกระงับกลางคัน อันดับของนักแข่งแต่ละคนจะพิจารณาจากอันดับที่ทำได้ 2 รอบก่อนหน้ารอบที่การแข่งขันจะถูกยกเลิกไป ยกตัวอย่างก็คือ หากการแข่งขันมีเหตุให้ต้องยุติลงในรอบที่ 60 อันดับของนักแข่งนั้นจะตัดสินกันโดยดูจากอันดับที่ทำได้ในรอบที่ 58 หรือ 2 รอบก่อนหน้านั่นเอง

    การทำโทษนักแข่งที่ฝ่าฝืนกติกา (Driver Penalties)

    เจ้าหน้าที่สนาม มีอำนาจในการจะกำหนดโทษให้กับนักแข่งรายใดก็ตาม ที่ละเมิด หรือ ทำผิดกติกาที่ระบุไว้ การละเมิดกติกานั้น ยกตัวอย่างเช่น การจัมพ์สตาร์ท, การจงใจให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น หรือ จะเป็นการบล็อก การขีดขวางไม่ให้รถคันอื่นแซงขึ้นหน้าไปได้อย่างไม่แฟร์, การใช้ความเร็วในพิตเกินกว่าที่กำหนดไว้ ฯลฯ

    ส่วนใหญ่การลงโทษที่เราคุ้นกันดีก็คือ drive-through และ ten-second โดยโทษของ drive-through นั้นนักแข่งที่ถูกลงโทษ จะต้องนำรถเข้าพิตเหมือนเวลาที่ต้องการเปลี่ยนยาง หรือ เติมเชื้อเพลิงปกติ ทว่าเมื่อเข้าพิตแล้ว จะห้ามหยุดรถ และต้องใช้ความเร็วในพิตได้ไม่เกินที่กำหนด ซึ่งหากในสนามไหน ช่วงความยาวของพิตเลนมีมาก นักแข่งที่ถูกลงโทษด้วย drive-through ก็จะเสียเวลาอย่างไม่ควรจะเป็น และอาจส่งผลถึงการทำอันดับในการแข่งขันสนามนั้นๆด้วย

    ส่วน ten-second นั้น บางครั้งอาจถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า stop-go ถือเป็นบทลงโทษที่สร้างความเสียหายให้กับนักแข่งที่ทำผิดกติกาได้มากกว่าโทษแบบ drive-through กล่าวคือ นอกจากจะต้องนำรถเข้าพิตซึ่งเสียเวลาไปหลายวินาทีแล้ว นักแข่งที่ถูกทำโทษจะต้องจอดรถสนิท หรือ หยุดนิ่งเพิ่มอีก 10 วินาที ก่อนที่จะได้รับการอนุญาตให้กลับสู่สนามได้ ซึ่งในช่วงที่รถต้องหยุดนิ่งในพิตนี้ ก็ห้ามไม่ให้มีการปรับแต่ง หรือ เพิ่มเติมใดๆกับรถทั้งสิ้น

    ใช่ว่าจะมีแต่โทษเบาๆสำหรับการขู่ หรือ ปรามนักแข่งที่ทำผิดกติกา โทษหนักๆเช่น การปรับอันดับลง 10 อันดับสำหรับการออกสตาร์ทในการแข่งขันสนามถัดไป (ยกตัวอย่างเช่น หากในสนามถัดไป นักแข่งที่ถูกทำโทษแม้จะทำเวลาในรอบคัดเลือกด้วยการคว้าโพล โพซิชั่น แต่ก็ต้องไปออกสตาร์ทในอันดับ 11 จากกริดในการแข่งขันจริง) ก็อยู่ในขอบเขตที่เจ้าหน้าที่สนามสามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน

    คณะกรรมการจัดการแข่งขัน (Officials)

    ในการประชุม หรือ หารือสำหรับการแข่งขันแต่ละรายการนั้น จะต้องประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างน้อย 6 รายด้วยกัน โดยเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบ และ ควบคุมการปฏิบัติงานต่างๆของเจ้าหน้าที่สนามอีกทอดหนึ่ง เพื่อรับประกันว่าการแข่งขันจะปราศจากเหตุร้าย หรือ อันตรายใดๆขึ้นในช่วงที่มีการแข่งขัน และเพื่อเป็นไปตามข้อบังคับของทาง FIA

    จากจำนวน 6 คนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะกรรมการจัดการแข่งขันนั้น จะมี 4 คนด้วยกันที่ทาง FIA กำหนด หรือ มอบหมายด้วยตัวเอง ขณะที่อีก 2 รายนั้น จะต้องมีใบอนุญาตจาก FIA ที่เรียกว่า ซูเปอร์ไลเซนซ์ (super licence) และยังต้องไม่ใช่ผู้ที่มีสัญชาติเหมือนกับสนามที่จัดการแข่งขันในชาตินั้นๆอีกด้วย

    การทำงานของคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะมีขอบเขต และ บทบาทของตัวเองที่ชัดเจน โดยจะต้องทำงานประสานกับตัวแทนด้านเทคนิคของ FIA ที่เวลานี้ก็คือนาย Jo Bauer

    Parc Ferme

    ตามข้อบังคับของ FIA นั้น รถทุกแข่งที่ลงทดสอบในรอบคัดเลือกวันเสาร์ จะต้องนำมาเก็บไว้ที่ Parc Ferme เหมือนกันหมด เช่นเดียวกับเมื่อจบการแข่งขันในวันจริง หรือ ในรอบชิงชนะเลิศ โดย Parc Ferme นี้ คือสถานที่มิดชิด และ มีความปลอดภัยสูงมาก เป็นที่ซึ่งรถทุกคันจะถูกนำมาตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการทำผิดกติกาใดๆหรือไม่

    ในขณะที่รถทุกคันถูกนำมาเก็บไว้ที่ Parc Ferme นี้ FIA จะให้ทีมแข่งแต่ละทีม ส่งเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง มานำรถออกไปได้เพื่อทำการแข่งขัน หรือ นำไปซ่อมแซมปรับปรุงเพิ่มเติม แต่จะต้องได้รับการอนุญาตเสียก่อนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของ FIA

    รถแข่งแต่ละคันสามารถเติมเชื้อเพลิงได้ แต่ต้องเติมให้เรียบร้อยก่อนหน้าที่รอบคัดเลือกตอนเช้าของวันอาทิตย์จะเริ่มขึ้น การปรับแต่งอุปกรณ์บนตัวรถเล็กน้อยอย่างเช่น การปรับปีกหน้า ถือว่าไม่เป็นการผิดกติกา

    การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆกับตัวรถ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดการแข่งขันก่อน เช่น สภาพอากาศเปลี่ยนจากร้อน หรือ แห้งปกติ เป็นมีฝนตก หรือกลับกัน เปลี่ยนจากมีฝนตก เป็น แห้งปกติ

    นอกจากนี้ยังมีการระบุไว้ในข้อบังคับอีกด้วยว่า รถคันใดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ไม่ว่าจะเป็นในรอบคัดเลือก หรือ ในการแข่งขันจริง นักแข่ง และ รถคันดังกล่าว จะได้รับการอนุญาตให้กลับไปแข่งขันต่อได้ แต่จะถูกปรับให้ไปออกสตาร์ทที่ท้ายแถวแทน

    คะแนน (Points)

    นักแข่งที่จบการแข่งขัน 8 อันดับแรกในแต่ละกรังปรีซ์ หรือ แต่ละสนามแข่ง จะได้รับคะแนนเพื่อการนำไปคำนวณตำแหน่งแชมป์โลกในประเภทนักแข่ง และ ทีมผู้ผลิตดังนี้

    อันดับ 1: 10 คะแนน
    อันดับ 2: 8 คะแนน
    อันดับ 3: 6 คะแนน
    อันดับ 4: 5 คะแนน
    อันดับ 5: 4 คะแนน
    อันดับ 6: 3 คะแนน
    อันดับ 7: 2 คะแนน
    อันดับ 8: 1 คะแนน

    ทั้งนี้หากการแข่งขันในรายการใดที่มีเหตุให้ต้องจบ หรือ ยกเลิกการแข่งขันโดยที่ยังไม่ถึง 75 เปอร์เซนต์ของจำนวนรอบทั้งหมด นักแข่งที่ติดอยู่ในอันดับ 1-8 จะได้รับคะแนนเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของคะแนนปกติเท่านั้น

    นักแข่งที่ทำคะแนนสะสมได้มากที่สุดตลอดทั้งฤดูกาล จะได้รับตำแหน่งแชมป์โลกไปครอง หลักการเดียวกันสำหรับทีมผู้ผลิต หากทีมใดได้คะแนนสะสมมากที่สุด ก็จะได้แชมป์ในประเภททีม

    หากกรณีที่นักแข่ง หรือ ทีมแข่ง ทำคะแนนได้เท่ากัน ตำแหน่งแชมป์โลกจะตกเป็นของนักแข่ง หรือ ทีม ที่ทำสถิติคว้าแชมป์ในรายการต่างๆ นักแข่ง หรือ ทีมแข่งใด คว้าแชมป์ได้มาก ก็จะได้แชมป์ไปครอง
     
    Ahtrun_Sala และ nOxIeS ถูกใจสิ่งนี้
  2. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    การฝึกซ้อม และ ลงแข่งรอบคัดเลือก (Practice and qualifying)

    ในการแข่งขันแต่ละสนาม นักแข่งแต่ละคน จะได้รับอนุญาตให้นำรถลงฝึกซ้อมได้ไม่นับรวมการแข่งขันจริงคนละ 6 ครั้งด้วยกัน แบ่งเป็น ซ้อม 2 ครั้งๆละ 1 ชั่วโมงในวันศุกร์ (ยกเว้น โมนาโก กรังด์ปรีซ์ ที่จะเป็นวันพฤหัสบดี) และซ้อมอีก 2 ครั้งๆละ 45 นาทีในวันเสาร์ บวกกับ 1 รอบคัดเลือกวันเสาร์ และอีก 1 รอบคัดเลือกวันอาทิตย์

    หากนักแข่งคนใดไม่ต้องการนำลงรถทำการฝึกซ้อม ไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดกติกาแต่อย่างใด แต่สำหรับรอบคัดเลือกนั้น จะต้องเข้าร่วมทุกคน โดยในรอบคัดเลือกนั้น นักแข่งจะต้องพยายามทำเวลาให้ดีที่สุดในรอบที่เรียกว่า ฟลายอิ้งแล็บ (flying lap) โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะนำ flying lap จากวันเสาร์ และ วันอาทิตย์ มาใช้ในการจัดลำดับการออกสตาร์ทในวันแข่งจริง

    สำหรับลำดับการวิ่งในรอบคัดเลือกนั้น จะแตกต่างกันสำหรับวันเสาร์ และ วันอาทิตย์ โดยวันเสาร์นั้นจะใช้อันดับจากการแข่งขันในสนามก่อนหน้านี้ โดยผู้ทำอันดับดีที่สุดจะได้สิทธิ์ลงทำเวลารอบคัดเลือกก่อน ขณะที่วันอาทิตย์ จะสลับให้ผู้ทำเวลาแย่ที่สุดในวันเสาร์ ได้ลงทดสอบเวลาเป็นคันแรกบ้าง ทั้งนี้ในการแข่งขันรอบคัดเลือก นักแข่งจะโดนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อยๆ โดยแต่ละกลุ่มย่อยจะมีนักแข่งกลุ่มละ 5 คนด้วยกัน

    กติกายังระบุไว้อีกว่าในการทำเวลารอบคัดเลือกนั้น จะไม่อนุญาตให้มีรถ 2 คันลงทำเวลา flying lap ได้พร้อมกัน นอกจากนี้หากแข่งคนไหนไม่สามารถนำรถออกจากพิตได้เมื่อถึงกำหนด จะถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งรอบคัดเลือกในช่วงนั้นทันที

    สำหรับนักแข่งที่รถมีปัญหาในจังหวะที่อยู่ในช่วง out-lap (ในการวิ่งรอบคัดเลือกจะถูกแบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกันก็คือ in-lap, flying-lap และ out-lap) ให้ถือว่าต้องออกจากการคัดเลือกในช่วงนั้นทันที และนักแข่งคนถัดไปจะนำรถลงสนามได้ก็ต่อเมื่อได้รับสัญญาณจากเจ้าหน้าที่สนาม

    ขั้นตอนการออกสตาร์ท (Race start procedure)
    นักแข่งทุกคนและทีมแข่งทุกทีม จะต้องปฏิบัติตามกติการอย่างเคร่งครัดสำหรับขั้นตอนการออกสตาร์ท

    โดยปกติแล้ว การเตรียมตัวสำหรับการออกสตาร์ทจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งนักแข่งแต่ละคนจะมีโอกาสได้ทดสอบความพร้อมเป็นขั้นสุดท้ายก่อนที่จะนำรถไปประจำตำแหน่งออกสตาร์ทของตัวเอง โดยหากนักแข่งคนไหนต้องการทดสอบรถเพิ่มเติม และจำต้องวิ่งผ่านกลุ่มรถที่อยู่ที่กริด (ตำแหน่งออกสตาร์ท) ให้นักแข่งคนนั้นนำรถวิ่งผ่านพิตเลนทุกครั้ง

    ก่อนหน้าที่ฟอร์เมชั่น แล็ป จะเริ่มต้นขึ้น พิตเลน จะถูกปิดเป็นเวลา 15 นาที หากนักแข่งคนไหนยังอยู่ในพิตเลน ใหถือว่านักแข่งคนนั้นจะต้องออกสตาร์ทจากพิตเลนแทน

    10 นาทีก่อนออกสตาร์ทจริง ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องยกเว้นเจ้าหน้าที่ทีม, คณะกรรมการจัดการแข่งขัน และ นักแข่ง จะถูกกันออกจากกริดสตาร์ท และขณะที่เหลือเวลาอีก 5 นาทีนั้น รถทุกคันต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการออกสตาร์ท หากรถมีปัญหาเกิดขึ้น ให้นักแข่งนำรถไปต่อท้ายแถว หรือ ให้ออกสตาร์ทจากพิตเลนแทน

    ขณะที่เหลืออีก 1 นาที รถทุกคันจะต้องติดเครื่องยนต์ให้พร้อม และขณะที่เหลือเวลา 15 วินาทีโดยประมาณก่อนไฟเขียวจะติด ผู้ที่อยู่ในสนามยกเว้นนักแข่งจะต้องออกจากสนาม

    เสี้ยววินาทีที่ไฟเขียวออกสตาร์ทจะกระพริบนั้น หากนักแข่งคนใดเกิดเหตุสุดวิสัย จะต้องยกมือแจ้งเหตุทันที โดยหลังจากรถทุกคันได้สตาร์ทจากกริดไปแล้ว เจ้าหน้าที่สนามจะรีบนำรถคันดังกล่าวกลับไปที่พิตเลน ในช่วงนี้หากนักแข่งสามารถสตาร์ทรถได้ใหม่ขณะยังไม่เข้าพิต ก็จะได้รับอนุญาตให้แข่งต่อไปได้ทันที

    ในระหว่างที่อยู่ในฟอร์เมชั่นแล็ปนั้น ห้ามไม่ให้มีการแซงกันเป็นอันขาด เว้นเสียแต่ว่าจะมีรถที่เกิดเหตุขัดข้องเกิดขึ้น รถคันหลังที่ตามมาถึงจะสามารถแซงผ่านไปได้ เช่นเดียวกันหากรถที่เกิดปัญหาสามารถวิ่งต่อไปได้ ก็จะได้รับอนุญาตให้แซงหน้าเพื่อกลับไปอยู่ในตำแหน่งออกจากกริดสตาร์ทตามเดิม

    เรื่องของสภาพอากาศก็มีผลต่อการออกสตาร์ทเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นหากว่ามีฝนตกเกิดขึ้นก่อนการออกสตาร์ท 5 นาที ทีมแข่งแต่ละทีมก็จะได้เวลาพิเศษ 15 นาทีโดยประมาณเพื่อสำหรับการเปลี่ยนไปใช้ยางที่เหมาะสม

    หากว่าสภาพอากาศอยู่ในขั้นที่วิกฤติ หรือ เลวร้ายสุดๆ ผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน อาจจะตัดสินใจยกเลิกขั้นตอนการออกสตาร์ท และอาจตัดสินให้กลับมาออกสตาร์ทกันใหม่หากว่าสภาพอากาศกลับสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้ผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน อาจจะยอมให้มีการออกสตาร์ทกันโดยมีรถเซฟตี้คาร์วิ่งนำหน้าได้เช่นกัน

    รถเซฟตี้ คาร์ (Safety car)
    รถเซฟตี้ คาร์นั้น ชื่อของมันก็บอกหน้าที่ และ ความหมายไว้อย่างชัดเจนดีอยู่แล้ว ก็คือมีหน้าที่ช่วยให้สนามแข่งขันอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย และ ปลอดภัยสำหรับการแข่งขันตลอดโปรแกรมการแข่ง ผู้ที่ทำหน้าที่ขับรถเซฟตี้ คาร์ มักจะเป็นอดีตนักแข่งรถที่มากไปด้วยประสบการณ์ โดยบนรถเซฟตี้ คาร์ นี้ จะมีผู้สังเกตุการณ์การแข่งจาก FIA นั่งควบคู่ไปด้วย และ จะทำการรายงานผ่านวิทยุสื่อสารทันทีหากว่ามีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น

    ทั้งนี้หากมีอุบัติเหตุที่ไม่ร้ายแรงเกิดขึ้นถึงกับต้องยกเลิกการแข่งขัน แต่อาจจะดูหนักกว่าการใช้ธงเหลือง รถเซฟตี้ คาร์ ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในทันที เพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้นักแข่งที่อยู่ในสนามชะลอความเร็วของรถลง

    ในช่วงของฟอร์เมชั่น แล็ป รถเซฟตี้ คาร์ จะวิ่งนำหน้าขบวน โดยรถที่ตามกันมานั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีการแซงกัน โดยหากไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น รถเซฟตี้ คาร์ จะส่งสัญญาณพร้อมไปที่ข้างสนาม เพื่อเป็นสัญญาณให้รถที่วิ่งตามหลังกันมาสามารถแซงขึ้นหน้าไปได้

    นอกจากนี้ หากสภาพอากาศไม่ปกติ รถเซฟตี้ คาร์ จะต้องลงมาวิ่งนำหน้ารถทุกคนในสนาม เช่นเดียวกับที่รอบทุกรอบที่มีรถเซฟตี้ คาร์ วิ่งนำหน้า ให้ถือเป็นการนับรอบโดยปกติ

    การตรวจสอบ และ ชั่งน้ำหนัก (Scrutineering and weighing)
    รถทุกคันจะต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อดูว่าเป็นไปตามข้อบังคับ และ กติกาที่ตกลงกันไว้หรือเปล่า โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขัน มีสิทธิ์เรียกตรวจสอบรถทุกคันได้ในทุกช่วงเวลาตามที่ต้องการ

    โดยปกติแล้ว รถทุกคันจะได้รับการตรวจสอบหลังการประชุมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในวันพฤหัสบดี (อาจจะเป็นวันพุธ หากเป็นรายการ โมนาโก กรังด์ปรีซ์) และในระหว่างที่ทำการตรวจสอบ จะห้ามไม่ให้นำรถออกจากจุดตรวจเพื่อกระทำการอื่นเป็นอันขาด

    นอกเหนือจากการตรวจสอบ ถอดชิ้นส่วนต่างเช็คดูความเรียบร้อยแล้ว การชั่งน้ำหนัก ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่รถทุกคันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (โดยปกติแล้ว น้ำหนักรถ+น้ำหนักนักแข่งจะอยู่ที่ต่ำสุดไม่น้อยกว่า 600 กิโลกรัม และอาจเพิ่มเป็น 605 กิโลกรัมในช่วงของการวิ่งรอบคัดเลือก)

    หากรถคันใดมีน้ำหนักต่ำกว่าที่กำหนด ก็อาจจะถูกยกเลิกเวลาในรอบคัดเลือก และอาจจะหนักถึงขั้นให้พ้นจากการแข่งขันในสนามนั้นๆ

    รถสำรอง และ เครื่องยนต์ (Spare cars and engines)

    ในกติกาที่ FIA บัญญัติเอาไว้นั้น เขียนไว้อย่างชัดเจนว่านักแข่งแต่ละคน จะมีรถสำหรับการฝึกซ้อม,ทดสอบ,ลงแข่ง ได้คนละไม่เกิน 4 คันโดยทั่วไปแล้วทีมแข่งมักจะนำรถสำรองพ่วงมาด้วย โดยนักแข่งแต่ละคนจะมีรถสำรองของตัวเองคนละ 1 คัน ซึ่งในการจะใช้รถสำรองเหล่านี้ ก็ยังมีข้อบังคับตามมาอีกมากมาย

    ก่อนหน้าที่จะลงทดสอบเวลารอบคัดเลือกวันแรกนั้น นักแข่งแต่ละคนจำเป็นต้องระบุรถที่จะใช้จริง และ สำรอง รวมทั้งสิ้น 2 คันไว้อย่างชัดเจน

    หากนักแข่งรายใดจำเป็นต้องนำรถสำรองออกมาใช้หลังจากการวิ่งรอบคัดเลือกผ่านพ้นไปแล้ว นักแข่งรายนั้นจะต้องไปออกสตาร์ทจริงจากพิตเลนแทน

    และเมื่อการแข่งขันจริงเริ่มต้นไปแล้ว นักแข่งจะไม่สามารถสลับไปใช้รถสำรองได้อีก ไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม

    ในส่วนของเครื่องยนต์ก็มีข้อบังคับที่ควรรู้ และ ศึกษาไว้เช่นกัน กล่าวคือ นักแข่งทุกคนจะสามารถใช้เครื่องยนต์ได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้นสำหรับการแข่งขัน 2 รายการติดต่อกัน หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์จริงๆ และต้องเปลี่ยนก่อนหน้าที่จะมีการวิ่งรอบคัดเลือกวันแรก นักแข่งรายดังกล่าวจะต้องโดนปรับอันดับในการออกสตาร์ทจริงจากเดิมลงไปอีก 10 อันดับ

    หากนักแข่งรายใด ต้องการเปลี่ยนเครื่องหลังจากการทดสอบเวลาวันแรกผ่านพ้นไปแล้ว นักแข่งรายนั้นจะต้องไปต่อท้ายขบวนโดยอัตโนมัติในการออกสตาร์ทการแข่งขันจริง

    สำหรับนักแข่งที่ต้องออกจากการแข่งขันกลางคัน นักแข่งรายนั้นจะสามารถเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกติกาแต่อย่างใด

    การยกเลิกการแข่งขันกลางคัน และ การกลับมาแข่งขันต่อหลังเกิดเหตุใดให้ต้องระงับไป (Suspending and resuming a race)

    หากการแข่งขันจำเป็นต้องยกเลิก หรือ ยุติ เพราะมีอุบัติเหตุหนัก หรือ เพราะสภาพสนามแข่งชำรุดเสียหาย ธงแดงจะถูกโบกสะบัดให้นักแข่งได้รู้ โดยนักแข่งจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีการแซงกันได้ในระหว่างที่มีธงแดง ขณะเดียวกันทางออกของพิตเลนจะถูกปิดชั่วคราว

    ในกรณีที่นักแข่งคนใดพยายามฝ่าฝืนกติกา ด้วยการแซงรถคันอื่นในขณะที่มีธงแดงเกิดขึ้นนั้น นักแข่งรายดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษด้วยกฏ drive-through penalty

    เมื่อมีธงแดง รถเซฟตี้ คาร์ จะกลับสู่สนาม และ วิ่งน้ำหน้ารถทุกคัน ขณะเดียวกันหากรถคันใดจำเป็นต้องมีการซ่อมแซม หรือ ปรับเปลี่ยนใดๆ เจ้าหน้าที่ทีมจะสามารถลงมาดูแลรถดังกล่าวถึงขอบสนามได้โดยไม่ผิดกติกา แต่ห้ามไม่ให้มีการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่เป็นอันขาด

    อย่างไรก็ดีหากมีรถคันไหนที่บังเอิญอยู่ในพิตพอดีกับจังหวะที่มีธงแดงเกิดขึ้น รถคันนั้นยังสามารถเติมน้ำมันได้ตามปกติ
     
  3. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    เครื่องยนต์ (Engine)

    เครื่องยนต์ของรถแข่งเอฟวัน จะมีขนาดไม่เกิน 3 ลิตร มีลูกสูบทั้งสิ้น 10 สูบ โดยแต่ละสูบจะมีวาล์วได้สูงสุดไม่เกิน 5 วาล์วต่อสูบ

    ในส่วนของแครงค์ชาฟท์ และ แคมชาฟท์ จำเป็นต้องสร้างขึ้นจากเหล็ก

    อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างเช่น ตัวระบายความร้อนบนลูกสูบ ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาติดตั้งกับเครื่องยนต์ได้

    น้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel)

    รถแข่งเอฟวันใช้พลังจากน้ำมันเชื้อเพลิง ทว่าส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถเอฟวัน จะแตกต่างจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถบ้านทั่วๆไป อย่างไรก็ดี FIA อยากจะเห็นทีมแข่งเอฟวันหันมาใช้น้ำมันเครื่องเกรดเดียวกับรถบ้านทั่วๆไปมากกว่า

    ก่อนที่จะทำการแข่งขัน ทุกทีมจะต้องเอาตัวอย่างน้ำมันเพื่อให้ FIA นำมาตรวจสอบ และ รับรองว่าเป็นน้ำมันที่สามารถใช้สำหรับการแข่งได้ นอกจากนี้อาจจะมีการขอตัวอย่างน้ำมันในระหว่างที่การแข่งขันกำลังดำเนินอยู่ เพื่อที่ทางฝ่ายจัดการแข่งขันจะนำมาตรวจสอบว่าตรงกับตัวอย่างที่ส่งมาแต่ต้นหรือไม่

    ระบบน้ำมัน (Fuel system)

    ถังน้ำมันในรถแข่งเอฟวัน ต้องถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่ FIA ให้การรับรองเหมือนกับชิ้นส่วนอื่นๆ ตำแหน่งของเครื่องยนต์ในตัวรถนั้นจะติดตั้งไว้ด้านหลังนักแข่ง และอยู่เหนือเครื่องยนต์

    ท่อน้ำมันที่เป็นทางเดินของน้ำมันไปสู่เครื่องจะต้องได้รับการซีลอย่างดี และจะต้องไม่วางผ่านบริเวณห้องโดยสารของนักแข่ง ขณะที่โครงสร้างของถังน้ำมันต้องแข็งแกร่งป้องกันแรงกระแทกได้ดีอีกด้วย

    สำหรับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะแข่งขัน มีการกำหนดไว้ด้วยว่าแต่ละทีมควรจะมีอัตราการเติมน้ำมันด้วยความเร็วไม่เกิน 12.1 ลิตร/วินาที ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง

    FIA มีสิทธิ์ที่จะขอตัวอย่างน้ำมันจากทีมแข่งแต่ละทีมในระหว่างที่มีการแข่งขัน เพื่อนำไปตรวจสอบว่าเป็นน้ำมันที่มีสิทธิ์ใช้งานหรือไม่

    การทดสอบแรงกระแทก (Impact testing)

    รถแข่งเอฟวันทุกคัน จำเป็นต้องผ่านการทดสอบแรงกระแทกเหมือนกันหมด เพื่อให้แน่ใจว่าจะปลอดภัยสำหรับตัวแข่ง ในการทดสอบดังกล่าวจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ FIA วางไว้ และจะมีตัวแทนของ FIA เข้าร่วมการทดสอบทุกครั้งด้วย

    ในการทดสอบนี้ รถแข่งทุกคันจะได้รับการทดสอบแรงกระแทกทั้งส่วนหน้ารถ, ส่วนข้างรถ และ ส่วนท้าย โดยไฮไลต์ของการทดสอบจะอยู่ที่บริเวณที่เป็น เซฟตี้ เซล ซึ่งจะต้องไม่ได้รับการกระเทือนเลยถึงจะผ่านการรับรองจาก FIA

    น้ำมันเครื่อง และ น้ำมันหล่อเย็น (Oil and coolant systems)

    การออกแบบ และ การวางตำแหน่งของถังน้ำมันเครื่องในรถแข่งเอฟวัน จะถูกเข้มงวดมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะมีรูรั่วจนสร้างความเสียให้กับเครื่องยนต์เอง ตลอดจนถึงเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างทำการแข่งขัน

    ทั้งนี้ในระหว่างที่การแข่งขันกำลังดำเนินอยู่ ห้ามไม่ให้มีการเติมน้ำมันเครื่องเป็นอันขาด

    สายท่อของน้ำยาหล่อเย็น และ สายท่อน้ำมันเครื่อง จะถูกห้ามไม่ให้พาดผ่านบริเวณที่เป็นห้องโดยสารนักแข่ง เพื่อความปลอดภัยของตัวนักแข่งเอง
     
  4. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    การทดสอบคานกันกระแทก (Roll structure testing)

    รถแข่งเอฟวันทุกคันจะต้องผ่านการทดสอบเกี่ยวกับคานกันกระแทกอย่างเคร่งครัด เพื่อรับประกันถึงความปลอดภัยของตัวนักแข่ง เพราะคานนี้จะช่วยเซฟให้กับนักแข่งได้ หากรถเกิดเสียหลักพลิกคว่ำ

    อุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย (Safety equipment)

    รถแข่งเอฟวันทุกคันจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง เพื่อป้องกันกรณีไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นในห้องโดยสารนักแข่ง หรือ ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ อุปกรณ์ดับเพลิงที่ว่านี้ จะต้องง่ายต่อการใช้งานด้วยตัวนักแข่งเอง และ ต้องใช้งานได้แม้ในยามที่ระบบไฟฟ้าของตัวรถเกิดขัดข้อง นอกจากนี้บนตัวอุปกรณ์ดับเพลิง จะต้องพ่นสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ E เป็นสีแดง และ ล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาว

    นอกจากอุปกรณ์ดับเพลิงแล้ว ในห้องโดยสารนักแข่งของรถทุกคน จำเป็นต้องมีตัวควบคุมระบบไฟ เพื่อที่นักแข่งจะสามารถตัดระบบไฟได้ในยามที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

    รถแข่งเอฟวันทุกคัน จะต้องติดตั้งกระจกส่องหลัง 2 อันบนตัวรถ ซึ่งขนาด และ ตำแหน่งในการติดตั้งจะมีข้อบังคับกำหนดไว้อย่างชัดเจน

    ในการดูว่ากระจกส่องหลังนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีพอสำหรับการใช้งานหรือไม่นั้น FIA จะทดสอบโดยให้นักแข่งเข้าไปนั่งในรถ และ มองตัวหนังสือในไซส์ต่างๆผ่านกระจก และให้บอกว่าตัวหนังสือที่เห็นนั้นเป็นคำว่าอะไร

    เข็มขัดนิรภัยก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในรถแข่งเอฟวันทุกคัน โดยในเวลาแข่งขัน นักแข่งจะต้องคาดเข็มขัด 2 เส้นพาดหัวไหล่ตัวเอง ขณะที่เส้นหนึ่งจะรัดบริเวณช่วงลำตัว และอีก 2 เส้นจะรัดบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง

    รถแข่งเอฟวันทุกคัน จะต้องมีไฟท้ายสีแดงติดตั้งไว้ด้วยตามข้อบังคับของ FIA ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในระหว่างการแข่งขันที่อาจจะยากลำบากในการเห็นรถคันข้างหน้าตัวเองนั่นเอง

    เพื่อความง่ายดายในการเข้าไปช่วยเหลือนักแข่งที่อาจจะได้รับบาดเจ็บ และ ไม่สามารถออกจากตัวรถได้เอง FIA ได้กำหนดให้เก้าอี้ของนักแข่งในรถจะต้องถอดออกจากตัวรถได้ง่าย ขณะเดียวกันสายเข็มขัดนิรภัยก็ต้องง่ายต่อการปลดด้วยเช่นกัน ที่สำคัญยังจะต้องง่ายสำหรับการใช้เครื่องมือพื้นฐานในการถอดด้วย

    ระบบกันสะเทือน และ ชุดบังคับเลี้ยว (Suspension and steering systems)

    ระบบกันสะเทือนในรถแข่งเอฟวันนั้น จะมีการกำหนดไว้ด้วยว่าห้ามไม่ให้ดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ช่วยในแง่ของหลักอากาศพลศาสตร์

    ส่วนชุดบังคับเลี้ยวนั้น ระบบพาวเวอร์ ได้รับการอนุญาตสำหรับติดตั้งในรถแข่งเอฟวันได้ แต่ระบบเลี้ยวอิสระ 4 ล้อนั้นจะถูกห้ามนำมาใช้เป็นอันขาด

    กล้องติดรถ (Television cameras)

    ตลอดช่วงสัปดาห์ที่มีการแข่ง รถแข่งเอฟวันทุกคันจะต้องติดตั้งกล้องบนตัวรถ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ และ ความสะดวกในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์นั่นเอง

    ระบบส่งกำลัง (Transmission system)

    ปัจจุบันในรถแข่งเอฟวันแทบจะทั้งหมด จะใช้เกียร์เซมิออโต้แบบ 7 สปีด โดยในข้อบังคับที่ทาง FIA กำหนดมานั้นระบุว่าจาก 7 เกียร์นี้ จะต้องมีเกียร์สำหรับเดินหน้าอย่างน้อย 4 เกียร์ด้วยกัน และ ไม่เกิน 7 เกียร์ ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่ต้องมีเกียร์ถอยหลังด้วย

    น้ำหนักรถ (Weight)

    รถแข่งเอฟวันทุกคัน จะต้องมีน้ำหนักอย่างน้อยที่สุด 605 กิโลกรัม (รวมนักแข่งด้วย) ในระหว่างลงวิ่งในรอบคัดเลือก และ สามารถหนักได้ต่ำสุด 600 กิโลกรัม ในช่วงเวลาอื่น

    ทีมบางทีอาจจะมีการถ่วงตะกั่วกับตัวรถเพื่อให้ได้น้ำหนักตามที่ต้องการ อย่างไรก็ดีจะต้องระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยด้วย และเมื่อติดตั้งตะกั่วเข้ากับตัวรถแล้ว จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถอด หรือ ใส่เพิ่มได้อีกในระหว่างแข่งขัน

    ล้อ และ ยาง (Wheels and tyres)

    รถแข่งเอฟวันทุกคันจะมีล้อได้สูงสุด 4 ล้อ โดยความกว้างของฐานล้อหน้าจะอยู่ที่ 305-305 มิลลิเมตร ขณะที่ฐานล้อหลังจะอยู่ที่ 365-380 มิลลิเมตร ขณะเดียวกันเมื่อใส่ยางเข้ากับล้อแล้ว เส้นผ่าศูนย์กลางรวมจะต้องไม่มากกว่า 660 มิลลิเมตร (อนุญาตได้ถึง 670 มิลลิเมตร หากใช้ยางแบบเปียก)

    ทั้งนี้ในการวัดความกว้างต่างๆ จะวัดขณะที่แรงดันลมเท่ากับ 1.4 bar
     
  5. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    ความรู้เกี่ยวกับการแข่งขันเอฟวัน (Understanding the sport)

    หลายคนได้เปรียบเทียบรถแข่งเอฟวันว่ามีความคล้ายคลึงกับเครื่องบินขับไล่ในหลายๆด้าน ซึ่งหลักอากาศพลศาสตร์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะนำความสำเร็จมาสู่ทีมแข่งแต่ละทีม

    ในการนี้ทีมแข่งทุกทีมต้องลงทุนเป็นเม็ดเงินมหาศาลไปในการค้นคว้าวิจัย ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของรถตลอดเวลา

    สำหรับทีมออกแบบนั้น ทีมวิศวกรจะคำนึงปัจจัย 2 ปัจจัยในการออกแบบนั่นก็คือ ทำยังไงให้รถวิ่งได้เร็วขึ้นอีก ส่วนอีกประการก็คือ สร้างค่าดาวน์ฟอร์ซให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม (ค่าดาวน์ฟอร์ซเยอะ จะช่วยกดหน้ารถขณะที่วิ่ง ทำให้เข้าโค้งได้ง่าย และ นุ่มนวลมากขึ้น)

    มีหลายทีมแข่งในยุคนี้ ที่หันกลับไปหาปีกติดรถที่เป็นรูปแบบที่ใช้กันในยุคปลายทศวรรษที่ 60 ปีก หรือ แพนหางที่อยู่รถแข่งเอฟวัน จะทำหน้าที่เหมือนกับปีก หรือ แพนหางของเครื่องบิน ต่างกันตรงที่เครื่องบินใช้ปีกในการพยุงตัวมันขึ้นสู่ท้องฟ้า ขณะที่รถแข่งเอฟวันใช้มันในการช่วยเพิ่มดาวน์ฟอร์ซแก่ตัวรถ โดยในปัจจุบันรถแข่งเอฟวันมีค่าดาวน์ฟอร์ซประมาณ 3.5 g (ประมาณ 3.5 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง)

    เคยมีการทดลองให้รถแข่งเอฟวันใช้ความเร็วเต็มที่โดยไม่ได้ใส่ปีกเข้ากับตัวรถ ปรากฏว่ารถไม่สามารถที่จะวิ่งได้เหมือนปกติ

    ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งกฏ และ กติกา ตลอดจนการพัฒนาชิ้นส่วนเช่นขนาดของปีก หรือ ตำแหน่งที่ติดตั้งปีก ทำให้ลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถแข่งเอฟวันไปได้มากเลยทีเดียว

    ในการแข่งขันแต่ละสนาม ทีมออกแบบก็จะต้องคิดค้น และ ปรับเปลี่ยนตัวรถให้เข้ากับสนามนั้นๆ อย่างเช่นในการแข่งขันที่ โมนาโก หรือ โมนาโก กรังด์ปรีซ์ ซึ่งมีทางตรงไม่มาก และ มีโค้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้นปีกของรถจึงมี 2 ชั้นขึ้นไป (ในปี 2004 เพิ่งจะมีการแก้กฏให้ใช้ได้ไม่เกิน 2 ชั้น) แต่ขณะที่สนามซึ่งมีทางตรงยาวๆอย่าง มอนซ่า ในอิตาลี รถของทุกทีมจะพยายามใช้ปีกแบบชั้นเดียว หรือ ลดให้มีชั้นน้อยที่สุด เพื่อต้องการทำความเร็วสูงสุดบนทางตรง และ ลดแรงเฉื่อยให้มากที่สุดนั่นเอง

    ไม่นานมานี้ ทีมแข่งหลายๆทีม เริ่มจะเลียนแบบ เฟอร์รารี่ ในเรื่องการออกแบบบริเวณท้ายของตัวรถให้แคบ และ ต่ำที่สุดที่จะเป็นได้ เพราะมันสามารถลดแรงเฉื่อยได้มหาศาล

    เบรก (Brakes)

    แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเรื่องของเทคโนโลยี แต่กติกาของรถแข่งเอฟวัน กลับไม่อนุญาตให้ติดตั้งระบบเบรกแบบกันเบรกล็อก หรือ ABS ได้ โดยเพิ่งจะมีการแบนไม่ใช้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

    แม้ไม่ใช่ ABS ทว่ารถแข่งเอฟวัน ก็ใช้เทคโนโลยีในอุปกรณ์อื่นๆมาชดเชย โดยในการทดลองอันหนึ่งมีการนำรถเอฟวันที่วิ่งด้วยความเร็วกว่า 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้ความเร็ว และ หยุดในทันที ปรากฏว่าสามารถที่จะหยุดรถนี้ได้แบบสนิทในระยะทางที่สั้นกว่ารถนั่งโดยสารทั่วๆไป ที่ทำความเร็วที่ระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียอีก

    ความปลอดภัยของห้องโดยสารนักแข่ง (Cockpit/safety)

    ความปลอดภัยของห้องโดยสารนักแข่ง ถือเป็นหัวใจของรถแข่งเอฟวันยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง เราจะเห็นได้ว่าแม้จะประสบอุบัติเหตุหนักๆ แต่นักแข่งยุคนี้มักจะไม่เป็นอะไรมากนัก ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ FIA

    รถแข่งเอฟวัน ก็ไม่ต่างจากรถบ้านทั่วๆไป ที่จะต้องมีการทดสอบการชนเพื่อให้แน่ใจถึงความปลอดภัย ก่อนที่รถจะนำไปใช้แข่ง ซึ่งในการทดสอบนั้นจะใช้ความเร็วเหมือนในสนามแข่งจริงเลย เพื่อจะดูความสามารถของรถว่าสามารถรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

    โค้ง หรือ มุม (Cornering)

    โค้ง หรือ มุม ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง และ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการแข่งรถ การแข่งเอฟวันก็เช่นเดียวกัน การขับเคี่ยวกันบนทางตรงดูเหมือนจะเป็นการตัดสินกันที่รถคันใดมีพลังเครื่องยนต์ที่มหาศาล หรือ มีระบบเบรกที่เหนียวหนึบกว่ากัน แต่เมื่อเข้าโค้ง ทักษะ และ ฝีมือในการบังคับรถของนักแข่งจะดูเด่นชัดขึ้นทันที ผลแพ้ชนะของการแข่งขันบางครั้งอาจจะตัดสินกันที่โค้งเลยด้วยซ้ำ

    อาการของรถที่เรียกว่า โอเวอร์สเตียร์ (oversteer) หรือ อันเดอร์สเตียร์ (understeer) คืออาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ขณะที่รถเข้าโค้ง จำง่ายๆก็คือ โอเวอร์สเตียร์ คือ อาการที่ด้านท้ายของรถเกิดการปัด และ พยายามจะแซงขึ้นหน้า ขณะที่ด้านหน้ารถกำลังเข้าโค้งอยู่ ส่วน อันเดอร์สเตียร์ ก็คือ การที่รถเข้าโค้งผ่านไปได้โดยที่รถเหมือนจะหนีจากศูนย์กลางออกไป

    อาการอันเดอร์สเตียร์ ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก เพราะเมื่อรถลดระดับความเร็วลงจากเดิม อาการที่ว่านี้ก็จะหายไป หรือ ไม่ปรากฏ และรถในปัจจุบันนี้ก็สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ค่าของการอันเดอร์สเตียร์อยู่ที่ลิมิตเท่าไหร่ ขณะที่ โอเวอร์สเตียร์ ดูจะควบคุมได้ยากกว่า อันเดอร์สเตียร์

    อย่างไรก็ดีหากเป็นนักแข่งที่มีความชำนาญมากๆ นักแข่งเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จากการ โอเวอร์สเตียร์ ได้เช่นกัน เมื่อสามารถจะทำความเร็วก่อนเข้าโค้งได้เพิ่มขึ้น

    ปกติแล้วสเต็ปขณะที่รถแข่งเข้าโค้งนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกันประกอบด้วย turn-in, apex และ exit
     
  6. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    อุปกรณ์ของนักแข่ง (Drivers clothing)

    เสื้อผ้า ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆของนักแข่ง ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย อย่างเช่น หมวกกันน็อก นั้นก็ถูกสร้าง และ ออกแบบมาเพื่อป้องกันศรีษะของนักแข่งจากการกระทบกระแทก ขณะที่เสื้อผ้านั้นประโยชน์หลักๆก็คือ เอาไว้ใช้ป้องกันไฟลวก หรือ ไฟครอกตัวนั่นเอง

    โชคดีของนักแข่งด้วยที่อุบัติเหตุจากไฟไหม้ในการแข่งเอฟวันยุคนี้ไม่น่ากลัว หรือ เกิดขึ้นง่ายดายเหมือนสัก 2-3 ทศวรรษที่แล้ว สมัยนี้แม้กระทั่งถุงมือ และ รองเท้า ของนักแข่งก็ถูกออกแบบมาเพื่อกันไฟเช่นกัน

    แม้กระทั่งหัวไหล่ของนักแข่งเอง ก็จะมีอุปกรณ์เสริมเช่นกัน เพื่อรองรับเวลาที่หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น และต้องมีการนำตัวนักแข่งออกจากรถ ตัวของนักแข่งอาจจะถูกกระชากอย่างแรงจากสายรัดนิรภัยที่ติดอยู่กับเบาะรถ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยลด หรือ ป้องกันการบาดเจ็บลักษณะแบบนี้ได้

    กลับมาที่ถุงมืออีกครั้ง นอกจากจะต้องป้องกันไฟได้แล้ว ถุงมือที่ว่านี้ไม่ควรจะถูกสร้างมาให้หนา หรือ ใหญ่จนเกินไป เพราะนั่นอาจจะทำให้นักแข่งลดความรู้สึกในการสัมผัสกับพวงมาลัยเหมือนใช้มือปกติไป เช่นเดียวกับรองเท้าที่สวมใส่ ก็ไม่ควรจะมีพื้นที่หนาจนเกินไป

    สภาพร่างกายของนักแข่ง (Driver fitness)

    คงไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่า นักแข่งเอฟวัน คือนักกีฬาที่แข็งแกร่งไม่แพ้นักกีฬาลุยๆประเภทไหน ร่างกายของนักแข่งเอฟวัน จะต้องสามารถรับมือกับสารพัดสารพันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการชิงชัย

    ใช่ว่ามีฝีมือในการบังคับรถแล้ว จะไม่ต้องดูแลสภาพความฟิตของร่างกาย ตรงกันข้ามเลย นักแข่งเอฟวัน จำเป็นต้องรักษาสภาพร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอ อย่างน้อยที่สุดรถแข่งเอฟวันมีค่า g force อยู่ที่ประมาณ 3.5 นั่นหมายความว่านักแข่งจะต้องต่อสู้กับค่า g force ที่ว่านี้เป็นเวลานานนับชั่วโมง

    ความร้อนบนพื้นสนาม ก็เป็นอีกอุปสรรคสำหรับนักแข่งทุกคน ว่ากันว่าเมื่อจบการแข่งขันในแต่ละสนาม นักแข่งแต่ละคนจะมีน้ำหนักตัวลดลงเฉลี่ยแล้วคนละ 3 กิโลกรัมเลยทีเดียวเนื่องจากเสียเหงื่อเป็นจำนวนมากนั่นเอง

    การสร้างความอดทนโดยการออกกำลังกายด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดนั้น การวิ่ง และ ว่ายน้ำ ดูจะได้รับความนิยมมาเป็นลำดับต้นๆ ขณะที่นักแข่งบางคนอาจจะชอบการปั่นจักรยาน หรือ แม้กระทั่งโรลเลอร์ เบลด ก็ตาม

    นักแข่งบางคนให้ความสำคัญกับการสร้างกล้ามเนื้อเฉพาะที่ เช่นที่ คอ และ หน้าอก เพราะถือเป็นอวัยวะที่ต้องใช้งานอย่างมากในระหว่างบังคับรถ (ตัวอย่างง่ายๆก็คือ การต้องสวมหมวกกันน็อกที่มีน้ำหนักไม่น้อยเป็นเวลานาน ฯลฯ) กล้ามเนื้อแขนก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะนักแข่งจะต้องใช้กล้ามเนื้อตลอดเวลาที่อยู่ในสนาม

    เรื่องของโภชนาการก็น่าสนใจ ส่วนใหญ่แล้วนักแข่งเอฟวันทุกคนจะดูแลเรื่องไม่ต่างจากพวกนักกรีฑาทั่วๆไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการบริโภคสารอาหารจำพวก คาร์โบไฮเดรต และ โปรตีน

    ตลอดช่วงสัปดาห์ที่มีการแข่ง เรามักจะเห็นนักแข่งนิยมทานอาหารเช่น พาสต้า หรือ อาหารที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เพราะสารอาหารที่มีในอาหารเหล่านี้จะให้พลังงาน และ เสริมความทนทานให้กับนักแข่งได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

    น้ำเป็นสิ่งที่นักแข่งเอฟวันจำเป็นต้องดื่ม เรียกว่าไม่สามารถขาดได้เลย และจำเป็นต้องดื่มให้มากก่อนลงแข่งด้วย
     
  7. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    เครื่องยนต์ และ ระบบเกียร์ (Engine/ gearbox)

    เครื่องยนต์ และ ระบบส่งกำลังของรถเอฟวันสมัยใหม่ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ร้อนแรง และ ได้รับความสนใจอย่างมาก ที่สำคัญการขับเคี่ยวระหว่างทีมแข่งต่างๆเกี่ยวกับจุดนี้ก็เข้มข้นเสมอมา

    ว่ากันว่าทุกวันนี้การพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ มีแรงผลักดันสำคัญจากวลีอมตะที่อดีตตำนานวิศวกรยานยนต์ผู้ยิ่งใหญ่และล่วงลับไปแล้วก็คือ เฟอร์ดินานด์ ปอร์เช่ เคยกล่าวไว้ก็คือ รถแข่งที่ดีที่สุดคือรถที่เข้าเส้นชัยเป็นคันแรก และจากนั้นก็จะแตกพังเป็นเสี่ยงๆ

    การออกแบบเครื่องยนต์ในยุคนี้จึงเน้นไปที่การสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้นระหว่างเครื่องยนต์ที่ให้กำลังมหาศาล แต่ก็ต้องทนทานนานพอสำหรับการวิ่งจนครบการแข่งขัน

    ถ้าเราได้เห็นวิวัฒนาการในเรื่องพละกำลังของเครื่องยนต์ในรถแข่งเอฟวันจากอดีตจนปัจจุบัน เราจะทึ่งไปกับมันไม่น้อย

    ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 50 รถแข่งเอฟวันในเวลานั้นสามารถจะรีดพลังออกมาที่ 100 bhp/litre ตัวเลขที่ว่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อกาลเวลาผ่านไป

    เมื่อถึงยุคของเครื่องยนต์เทอร์โบรุ่งเรือง กำลังที่ได้จากเครื่องเอฟวันมีขนาดที่ 750 bhp/litre และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆด้วย จนกระทั่งในปี 1989 ที่มีแนวคิดจะให้กีฬาเอฟวันกลับคืนสู่สามัญ ตัวเลขนั้นเลยลดลง ก่อนจะเพิ่มสูงกลับขึ้นมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้

    อย่างไรก็ดีความพยายามที่จะทำให้เครื่องยนต์มีกำลังที่มากเกินพอดี ก็พบได้ในทุกการแข่งขัน ที่รถแข่งของทีมแข่งบางทีมมักจะมีปัญหาต้องออกจากการแข่งขันอยู่บ่อยๆเพราะเครื่องพังนั่นเอง สำหรับตัวเลขรอบที่เครื่องยนต์ในรถแข่งเอฟวันทำได้นั้น อยู่ที่ประมาณ 18,000 รอบต่อนาที

    การสร้างเครื่องยนต์เอฟวันในยุคปัจจุบัน เน้นไปที่ความกระทัดรัดและน้ำหนักที่เบาขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรจะอยู่ต่ำที่สุดที่จะเป็นได้เพื่อให้รถมีแรงดึงดูดต่อจุดศูนย์กลางมากขึ้น

    ระบบเกียร์ในรถแข่งเอฟวันยุคนี้ ล้วนเป็นแบบออโตเมติกทั้งสิ้น โดยนักแข่งสามารถจะเปลี่ยนเกียร์ได้บนพวงมาลัยที่ออกแบบมาอย่างไฮเทค อย่างไรก็ดีในปี 2004 FIA ได้มีมติไม่ให้บรรดาทีมแข่งติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกบางอย่างต่อนักแข่งเช่น launch control กับตัวรถ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าอย่างน้อยที่สุด นักแข่งก็ต้องแตะกันทุกคนอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงของการออกสตาร์ท

    และอย่างที่ทราบกันดีว่าในปี 2004 FIA ยังได้ออกกฏใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับเครื่องยนต์โดยคำนึงถึงความสิ้นเปลืองของทีมแข่งต่างๆ เมื่อมีการกำหนดว่าทีมแข่งแต่ละทีมจะสามารถใช้เครื่องยนต์ได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน รวมถึงการฝึกซ้อม และ ในรอบคัดเลือก โดยมีข้อยกเว้นบางอย่างเช่น หากนักแข่งคนใดต้องการจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ก่อนหน้าที่จะเริ่มการแข่งขัน นักแข่งรายนั้นจะต้องยอมถูกร่นอันดับในการออกสตาร์ทจริงลงไปอีก 10 อันดับจากอันดับที่ทำได้ในรอบคัดเลือก

    ธง (Flags)

    เจ้าหน้าที่ในแต่ละจุดของสนาม จะมีธงหลายๆสีอยู่กับตัว โดยธงเหล่านี้จะถูกใช้ในการสื่อสารกับนักแข่ง ซึ่งความหมายของธงแต่ละสีนี้เป็นเช่นไร มาดูกันครับ

    1. ธงตราหมากรุก (Chequered flag)
    เมื่อมีธงนี้ขึ้นมาหมายความว่าการแข่งขันได้จบสิ้นแล้ว ในการแข่งขันจริง ธงนี้จะถูกใช้เมื่อมีนักแข่งทะยานเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกได้สำเร็จ ขณะเดียวกันรถที่ไล่หลังมาจากนั้นทุกคันก็จะได้รับการตีธงให้เช่นกัน

    2. ธงเหลือง (Yellow flag)
    ธงนี้ใช้สื่อถึงว่ามีอันตรายเกิดขึ้น อาทิเช่น มีรถจอดขวางทางอยู่ด้านหน้า หากเจ้าหน้าที่สนามตีธงเหลืองนี้เป็นจำนวน 1 ครั้ง นั่นหมายความว่าต้องการให้รถแข่งในสนามใช้ความเร็วลดลง แต่ถ้าหากเป็นการตีธงเหลืองพร้อมกัน 2 อัน หมายความว่านักแข่งจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการบังคับรถหยุดนิ่งทุกขณะถ้ามีความจำเป็น

    ทั้งนี้ในช่วงที่มีสัญญาณธงเหลืองขึ้นมา ห้ามไม่ให้มีการแซงกันเกิดขึ้น

    3.ธงเขียว (Green flag)
    มีความหมายว่าการแข่งขันสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ หลังจากมีธงเหลืองแสดงขึ้นก่อนหน้านั้น

    4.ธงแดง (Red flag)
    ธงนี้ใช้เป็นสัญญาณว่าการแข่งขันได้ยุติลงชั่วขณะ เนื่องจากมีอุบัติเหตุ หรือ สภาพสนามเกิดได้รับความเสียหาย

    5.ธงน้ำเงิน (Blue flag)
    ธงนี้ใช้สำหรับเตือนนักแข่งว่า รถของนักแข่งคนนั้นๆกำลังจะโดนน็อกรอบ และนักแข่งคนดังกล่าวจะต้องยอมให้รถที่ไล่หลังมาแซงผ่านขึ้นไป

    ทั้งนี้หากนักแข่งคนใดไม่ปฏิบัติตามเมื่อมีธงน้ำเงินถูกแสดงขึ้นมาให้เห็นอย่างน้อย 3 ครั้งแล้ว นักแข่งคนนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะโดนทำโทษ

    6.ธงเหลืองคาดแดง (Yellow and red striped flag)

    เป็นการเตือนนักแข่งทุกคนว่าสภาพพื้นสนามในเวลานี้กำลังลื่น อาจจะเป็นเพราะคราบของน้ำมันเครื่อง หรือ มีแอ่งน้ำขังอยู่

    7.ธงดำมีวงกลมสีส้มล้อมรอบ (Black with orange circle flag)
    หากธงนี้ปรากฏขึ้นเมื่อไหร่ จะมีตัวเลขขึ้นมาบนธงนั้นด้วย โดยรถคันที่มีหมายเลขตรงกับเลขบนธง ถูกเตือนให้ทราบว่ารถคันนั้นกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบต่างๆ และจำเป็นต้องกลับเข้าพิตในทันที

    8.ธงสีดำครึ่งหนึ่งสีขาวครึ่งหนึ่ง (Half black, half white flag)
    หากธงนี้ปรากฏขึ้นเมื่อไหร่ จะมีตัวเลขขึ้นมาเช่นกัน โดยรถคันที่มีหมายเลขบนธง ถูกเตือนให้ทราบว่ารถคันนั้นได้แสดงความไม่มีน้ำใจนักกีฬาออกมา และหากยังมีการกระทำดังกล่าวเกิดซ้ำอีก เจ้าหน้าที่อาจจะโชว์ธงสีดำให้รถคันนั้นแทน

    9.ธงสีดำ (Black flag)
    ธงนี้ จะบอกว่ารถคันไหนที่จะต้องกลับเข้าพิตในทันที และอาจหมายถึงการที่รถที่เบอร์ปรากฏอยู่บนธงถูกสั่งให้ออกจากการแข่งขันได้เช่นกัน

    10.ธงขาว (White flag)
    ธงนี้ใช้เตือนว่ามีรถช้าอยู่ข้างหน้า
     
  8. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    น้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel)

    เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงที่ว่าแม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะยกระดับเทคโนโลยีของรถแข่งเอฟวันให้ดีขึ้นตลอดเวลา ทว่าในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กลับน่าแปลกไม่น้อยที่น้ำมันที่รถเอฟวันใช้กันทุกวันนี้แทบไม่ได้แตกต่างจากน้ำมันที่รถบ้านใช้กันเลย

    FIA กำหนดให้มีการนำตัวอย่างของน้ำมันมาตรวจสอบทั้งก่อน และ ระหว่างแข่งขัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของน้ำมัน

    ตัวเลขอันหนึ่งที่น่าทึ่งก็คือ ในฤดูกาลแข่งขันหนึ่งๆนั้น ทีมแข่งแต่ละทีมจะใช้น้ำมันไปกว่า 200,000 ลิตร ไม่ว่าจะในการทดสอบสิ่งต่างๆ หรือ สำหรับการแข่ง ว่ากันว่าน้ำมันของทีมแข่งเดียวกันเองยังมีส่วนผสมที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย ขึ้นอยู่กับสภาพของสนาม หรือบางทีขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเลยด้วยซ้ำ

    น้ำมันที่ยิ่งมีคุณภาพสูงเท่าไหร่ สามารถจะทำให้รถมีพละกำลังได้มากขึ้นเท่านั้น แต่อัตราการสึกหรอของเครื่องยนต์ก็จะสูงขึ้นด้วย

    การเข้าพิตเพื่อเติมน้ำมันในระหว่างที่มีการแข่งขัน กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการวางแผนเพื่อคว้าชัยชนะในแต่ละสนามไปแล้ว ท่อเติมน้ำมันจะถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้คล่องแคล่ว และ ปลอดภัยมากที่สุด อัตราการจ่ายน้ำมันผ่านท่อน้ำมันที่ปลอดภัยควรจะอยู่ที่ตัวเลข 12 ลิตร/วินาที

    น้ำมันเครื่อง ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะพูดถึงเช่นกัน ไม่ได้เพียงแค่มีหน้าที่หล่อลื่นเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว เรายังสามารถนำน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วจากการแข่งขันมาวิเคราะห์หาข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้อีก การวิเคราะห์ที่ว่านี้จะทำกันแบบสนามต่อสนามเพื่อจะวิเคราะห์ดูเขม่าของโลหะที่เจือปนอยู่เพื่อตรวจสอบถึงอัตราการสึกหรอของเครื่องยนต์ที่ถูกใช้งานไป

    HANS

    คำๆนี้ย่อมาจาก Head and Neck support system เป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ถูกคิดค้นขึ้น และ ใช้งานในมอเตอร์สปอร์ตเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่กับการแข่งรถเอฟวันนั้น HANS เพิ่งจะมีหน้าที่เด่นชัดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2003

    หน้าที่ของ HANS ก็คือ การลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับศรีษะ และ คอ ขอนักแข่ง ซึ่งถือเป็นอันตรายที่มักจะทำให้นักแข่งเสียชีวิต แม้จะมีหน้าที่ในการช่วยเซฟชีวิตของนักแข่ง คล้ายกับอุปกรณ์จำพวกถุงลมนิรภัย หรือ เข็มขัดนิรภัย ตามรถบ้านทั่วๆไป ทั้งนี้ HANS ถูกออกแบบมาให้ต้องมีเซนเซอร์อีเล็คทรอนิคส์ให้น้อยที่สุด

    รู้จัก HANS กันสักนิดว่า มันถูกคิดค้นโดย ดร. โรเบิร์ต ฮับบาร์ด (Dr. Robert Hubbard) ในช่วงกลางทศวรรษที่ 80 โดยงานประจำของ ดร.ฮับบาร์ด นั้นก็คือการทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย มิชิแกน สเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา

    หลักการพื้นฐานของ HANS นั้นง่ายๆไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ช่วงลำตัวของนักแข่งดูจะได้รับการปกป้องไว้อย่างแน่นหนาพอแล้ว ทว่าในส่วนของศรีษะ และ คอ นั้น กลับยังดูไม่ได้รับการปกป้องอย่างที่ควรจะเป็น

    ในขณะที่นักแข่งสวมหมวกกันน็อกนั้น น้ำหนักของมันจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานหนักมากขึ้น และในยามที่เกิดอุบัติเหตุ อาการอย่างเช่น คอเคล็ด จึงเกิดขึ้นกับนักแข่งเสมอๆ

    นับตั้งแต่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับอดีตแชมป์โลก 2 สมัยอย่าง มิก้า ฮัคคิเน่น ที่ ออสเตรเลีย ในปี 1995 (มิก้า ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นกะโหลกศรีษะร้าว) FIA และ เดมเลอร์ไครส์เลอร์ จึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะปกป้องศรีษะของนักแข่งจากอุบัติเหตุที่รุนแรง

    มีการเสนอให้ติดตั้งถุงลมนิรภัย หรือ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆเพิ่มเติม แต่หลังจากการวิจัยค้นคว้าอย่างละเอียดก็พบว่า การพัฒนา HANS คือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับนักแข่งเอฟวัน


    หมวกกันน็อก (Helmets)

    หากเราคิดถึงอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของรถแข่งเอฟวัน เชื่อแน่ว่า หมวกกันน็อก ต้องได้รับการนึกถึงเป็นลำดับแรกๆเป็นแน่

    ว่ากันว่าแม้รูปแบบของหมวกกันน็อกในปัจจุบันกับหมวกที่ใช้ในช่วงทศวรรษที่ 70 หรือ 80 จะมีรูปโฉมที่ไม่ค่อยต่างจากเดิมมากนัก ทว่าในแง่ของเทคโนโลยีการผลิต กลับพัฒนารุดหน้าก้าวไกลไปมาก

    ในปี 1985 มีการบันทึกไว้ว่าหมวกกันน็อกที่ใช้ในการแข่งขันเอฟวันทั่วๆไปมีน้ำหนักอยู่ที่ 2 กิโลกรัม อย่างไรก็ดีในขณะที่แข่งขัน น้ำหนักของหมวกกันน็อกไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขนั้น เพราะมันจะมีค่า g เพิ่มขึ้นในขณะที่เข้าโค้ง และทำให้นักแข่งส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาอาการบาดเจ็บกันบริเวณศรีษะ และ คอ ค่อนข้างเยอะ

    หากเทียบกันแล้ว หมวกกันน็อกในยุคปัจจุบันแข็งแรงกว่าหมวกสมัยเก่ามาก แต่กลับมีน้ำหนักที่เบากว่าเยอะเช่นกัน โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1.25 กิโลกรัม ภายในหมวกจะมีการบุวัสดุพิเศษหลายชั้น เพื่อที่จะสามารถรองรับแรงกระแทกปริมาณมหาศาลได้

    เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีความพยายามในการออกแบบรูปทรงของหมวกกันน็อกสำหรับเอฟวันให้ดูโฉบเฉี่ยวมากขึ้น หลักอากาศพลศาสตร์ได้ถูกคำนึงถึงในการออกแบบเช่นกัน

    หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าสีสันหมวกกันน็อกที่ดูงดงามนั้น ปัจจุบันนี้หมวกทุกใบยังได้รับการลงสีด้วยมือจากจิตรกรผู้มีความชำนาญ นักแข่งสามารถจะมีหมวกกันน็อกได้ไม่จำกัดสี และ จำนวนที่จะใช้งาน

    FIA ได้เผยว่าพวกเขามีโครงการที่จะพัฒนาหมวกกันน็อกในยุคปัจจุบันให้เป็น สุดยอดหมวกกันน็อก สำหรับอนาคตข้างหน้าของการแข่งขันเอฟวัน นอกจากเรื่องของความปลอดภัยที่จะต้องดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว การใช้งานร่วมกันกับ HANS ก็จะต้องสนับสนุนกันเป็นอย่างดีด้วย
     
  9. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    ชีวิตที่ปราศจาก Launch control

    การทำให้ขั้นตอนในการออกสตาร์ทสมบูรณ์แบบที่สุด คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดสำหรับการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตทุกประเภท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแข่งขันเอฟวัน

    เมื่อพิจารณาจากความยากลำบากในการแซงกันระหว่างแข่งของรถเอฟวันยุคนี้ (โดยเฉพาะสนามที่มีความยากมากๆเช่นที่ โมนาโก) การออกสตาร์ทที่ดีอาจจะเป็น 1 ในกลยุทธ์ที่จะทำนักแข่ง หรือ ทีมๆหนึ่ง มีความได้เปรียบในการแข่งขันได้ไม่น้อย

    FIA มีกฏออกมาว่านับตั้งแต่ปี 2004 พวกเขาจะแบนระบบการช่วยในการออกสตาร์ทของรถเอฟวันที่เรียกว่า Launch control จากการแข่งขัน ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ต้องการไม่ให้มีการค้นคว้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะพวกเขาคำนึงถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายมหาศาลของแต่ละทีมที่ต้องหมดไปในการค้นคว้ามากกว่า ขณะเดียวกันก็เพื่อทำให้การแข่งขันกลับมาดูสนุก และ เร้าใจ เพราะการแข่งขันมีความสูสีมากขึ้นด้วย ขณะที่นักแข่งจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการจะควบรถทะยานออกจากกริดขณะที่ไฟแดงในการออสตาร์ทเปลี่ยนเป็นสีเขียว
    ข้อดีของ Launch control ก็คือสามารถช่วยลดขั้นตอนในการออกสตาร์ทได้อย่างมาก ว่ากันว่าในสภาพสนามที่แห้งปกติดีนั้น รถที่ใช้ Launch control จะสามารถทำความเร็ว 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายใน 3.0 วินาที

    การที่ไม่มี Launch control ทำให้นักแข่งเอฟวันต้องปรับตัวให้คุ้นเคยการทำงานร่วมกับคลัตช์ให้มากขึ้น ซึ่งคลัตช์ในรถเอฟวันนั้นไม่ได้เป็นคลัตช์เท้าเหมือนรถทั่วๆไปแต่อย่างใด กลับกันมันเป็นคลัตช์มือ และตำแหน่งจะถูกวางไว้ด้านหลังของพวงมาลัย

    หลักการทำงานของคลัตช์มือ และ คลัตช์เท้า แทบไม่ได้ต่างกันเลย หากคุณเลี้ยงคลัตช์สั้นเกินไป รถก็จะกระตุกติดกับที่ หรือ ออกตัวช้า ในทางตรงกันข้ามหากปล่อยคลัตช์ช้าเกินไป รถคันอื่นๆข้างๆคุณ ก็จะแซงผ่านหน้าคุณขึ้นไปในทันที

    การขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ (Logistics)

    ทีมแข่งเอฟวันแต่ละทีม ต้องวุ่นวายไม่น้อยกับการเคลื่อน หรือ ขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่ง มีการจดบันทึกสถิติกันไว้เล่นๆว่าปีๆนึงนั้น แต่ละทีมต้องใช้เวลาเดินทางเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 160,000 กิโลเมตร เลยทีเดียว ซึ่งนี่เป็นแค่เฉลี่ยเท่านั้น ทีมที่มีขนาดใหญ่ ก็อาจจะต้องเดินทางมากกว่าตัวเลขดังกล่าว

    เหมือนกับการเดินทางไปพักแรมตามที่ต่างๆ ในการแข่งขันเอฟวันนั้น จะต้องมีการวางแผนการเดินทางไว้อย่างละเอียด ไล่ตั้งแต่การจองห้องพัก,เช่ารถ ตลอดไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆซึ่งแต่ละทีมก็จะต่างกันออกไป

    ปัจจุบันการรับส่งข้อมูลในแบบทันทีทันใด คือสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับทีมแข่งเอฟวันทุกทีม ข้อมูลบางประเภทจะต้องมีการส่งกลับไปให้ยังทีมงานที่ฐานใหญ่ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากสนามแข่งได้รับทราบ และ แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

    ในการแข่งขันรายการต่างๆที่จัดขึ้นในทวีปยุโรปนั้น การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่างๆจะใช้รถบรรทุกเป็นยานพาหนะหลัก อุปกรณ์บางอย่างที่เป็นของพาร์ทเนอร์นั้นอาจจะมีการแยกส่งตามกันมา

    สำหรับการแข่งขันนอกยุโรป ดูจะสร้างความลำบากให้กับทีมแข่งต่างๆไม่น้อย เนื่องจากการขนส่งต้องใช้โดยวิธีเครื่องบินเท่านั้น ซึ่งทีมแข่งส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ที่บรรจุของตามที่สายการบินมีให้ แต่พวกเขาเลือกจะสร้างที่บรรจุของตามการออกแบบ และ ความเหมาะสมของตัวเองมากกว่า
     
  10. TUMKUNG_naraka

    TUMKUNG_naraka New Member Member

    2,916
    182
    0
    Desperate KartRacer ถูกใจสิ่งนี้
  11. NKT_CASTROL

    NKT_CASTROL New Member Member

    165
    3
    0
    GOOD PERFEX
     
    Ahtrun_Sala และ TUMKUNG_naraka ถูกใจสิ่งนี้
  12. pornnirun

    pornnirun New Member Member

    1,929
    44
    0
    ดีครับเกร็ดความรู้ ขอบคุณครับ
     
    Ahtrun_Sala ถูกใจสิ่งนี้
  13. โอ๊ต MIDWAY

    โอ๊ต MIDWAY New Member Member

    496
    7
    0
    แจ๋วครับ....
     
    Ahtrun_Sala ถูกใจสิ่งนี้
  14. Plaruko

    Plaruko New Member Moderator

    558
    50
    0
    หารายละเอียดแบบนี้อ่านมานานแล้ว
     
    Ahtrun_Sala ถูกใจสิ่งนี้
  15. veeravich

    veeravich New Member Member

    300
    5
    0
    ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ
     
    Ahtrun_Sala ถูกใจสิ่งนี้
  16. killer_rw

    killer_rw New Member Member

    13
    3
    0
    ขอบคุณครับ
     
    Ahtrun_Sala ถูกใจสิ่งนี้
  17. here_mak

    here_mak New Member Member

    3
    2
    0
    รถแรง
     
    Ahtrun_Sala ถูกใจสิ่งนี้
< Previous Thread | Next Thread >

แบ่งปันหน้านี้